Archive

Archive for May, 2017

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรให้สถาบันการอาชีวศึกษา รุ่นที่ ๑

2.jpg

การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ที่จัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำที่ได้มาตรฐาน โดยใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป นั่นคือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) ผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษา สายเทคโนโลยีบัณฑิต อักษรย่อ ทล.บ. ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีสมรรถนะในการปฺฏิบัติ และพัฒนางานในระดับเทคโนโลยี สามารถปฏิบัติงานและเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานได้ หรือประกอบอาชีพอิสระ และพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพ และมีจิตอาสาในการช่วยเหลือสังคม ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นองค์กรภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากร ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ถึงระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ ทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี จากสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2560 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ถึง ปีการศึกษา 2559 รวมเป็นจำนวน 3,200 คน โดยแบ่งเป็นปีการศึกษา 2557 จำนวน 508 คน, ปีการศึกษา 2558 จำนวน 987 คน และปีการศึกษา 2559 จำนวน 1,705 คน และผลสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาด้านวิชาชีพของอาชีวศึกษา ให้ดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องได้ถึงระดับปริญญาตรี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา ปี พ.ศ. 2551 ให้สถาบันการอาชีวศึกษาเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีเป้าหมายหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นบัณฑิตนักเทคโนโลยีสายปฏิบัติการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของกำลังคนของประเทศ “สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยการกระทำประโยชน์เกื้อกูลกัน และทุกคนที่อยู่ร่วมกันย่อมเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ประโยชน์ บัณฑิตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับในความรู้ความสารมารถ จึงควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมทุกเมื่อ” พระบรมราโชวาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดิทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2550

กลุ่มประชาสัมพันธ์ / 9 พฤษภาคม 2560

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

สอศ.-กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมอบทุนต่อเนื่องปีที่ ๑๐ ปั้นช่างเทคนิควิศวะเคมี

0.JPG

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับมอบเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 8,500,000 บาท ประจำปีการศึกษา 2560 เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี Vocational Chemical Engineering Practice College (V-ChEPC) วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ณ ห้องประชุม 5 สอศ. กรุงเทพมหานคร ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวีเชฟ ซึ่งจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนานักศึกษาอาชีวะ สาขาปิโตรเคมี ให้เป็นคนเก่งทั้งทักษะวิชาชีพ คุณธรรม จริยธรรม มีกระบวนการคิดและวิธีทำงานที่เป็นระบบ โดยมีรูปแบบการเรียน การสอนด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ที่พัฒนาทักษะชีวิต เชื่อมโยงกับโลกการทำงาน และการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีมาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องถึงปัจจุบันระยะเวลา10 ปี ซึ่งเป็นระยะที่ 4 (พ.ศ.2560-2562) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษามีงานรองรับทั้งหมด คิดเป็น 100 % และได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในระดับเดียวกันรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่าในปีที่ 10 มีบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีสนับสนุนมอบทุนเพื่อสานต่อความร่วมมือโครงการวีเชฟ ระยะที่ 4 (ปี 2560-2562) ได้มอบเงินสนับสนุนจัดการเรียนการสอนประจำปีการศึกษา 2560 รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,500,000 บาท ดังนี้บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มอบให้ปีละ 3,500,000 บาท บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด มอบให้ปีละ 2,000,000 บาท บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) มอบให้ปีละ 1,000,000 บาท กลุ่มบริษัท อูเบะ (ประเทศไทย) มอบให้ปีละ 500,000 บาท กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มอบให้ปีละ 500,000 บาท และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มอบให้ปีละ 1,000,000 บาท โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี Vocational Chemical Engineering Practice College (V-ChEPC) ฯ ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) มาบตาพุด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มูลนิธิศึกษาพัฒน์ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการผลิต พัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา โดยเฉพาะช่างเทคนิคที่มีความสามารถเฉพาะทางด้านปิโตรเคมี ปัจจุบันมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้วทั้งหมด 8 รุ่น จำนวน 280 คน ก้าวต่อไปของการพัฒนาโครงการฯ คือการสนับสนุนให้เป็นสถาบันเฉพาะทางด้านการผลิตและพัฒนาช่างเทคนิคปิโตรเคมี (Center of Excellence) เป็นศูนย์ทดสอบและพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพช่างเทคนิคปิโตรเคมี ได้รับการยอมรับในระดับสากล ขณะนี้ได้เริ่มทดลองรับนักศึกษาต่างชาติ (ติมอร์) เข้าเรียนเป็นปีแรก และกำลังพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศเยอรมนี เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ื กลุ่มประชาสัมพันธ์ / 8พฤษภาคม 2560

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา